รู้จักเครื่องฟอกอากาศ อย่างละเอียดยิบ ในยุคฝุ่นละออง PM 2.5 ปกคลุมเต็มเมือง
รู้จักเครื่องฟอกอากาศ และแผ่นกรองอากาศชนิดต่างๆ รวมไปถึงฟังก์ชั่นเสริมของเครื่องฟอกอากาศ ให้มากขึ้น เพื่อให้คุณได้เลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศได้ตรงตามสเปค และคุ้มค่ามากที่สุด ในยุคที่ฝุ่นละออง PM 2.5 ปกคลุมเมือง
เครื่องฟอกอากาศ (Air Purifier)
โดยในปัจจุบันนี้ เครื่องฟอกอากาศ ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่ง เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีความสำคัญมากๆ ที่เกือบทุกครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ หรือแม้แต่ตาม คอนโดมิเนียม หรือหอพัก ต่างๆ ก็จะต้องมีเอาไว้ครอบครอง ไม่แพ้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ อย่าง เครื่องแอร์ ตู้เย็น ไมโครเวฟ เป็นต้น เพราะสภาพอากาศทั่วโลกเดี๋ยวนี้ก็ดูเหมือนจะแย่ลงทุกวัน
หัวข้อด้านล่างนี้ จะนำเสนอปัจจัยของการเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศ ว่าควรจะสังเกตดูตรงจุดไหนอย่างไรอะไรบ้าง สามารถกดลิงค์ด้านล่าง เพื่อข้ามไปอ่านยังหัวข้อที่ต้องการ หรือสนใจได้เลย เพื่อความสะดวก และรวดเร็ว
1.เครื่องฟอกอากาศคืออะไร ? (What is Air Purifier ?)
2.ทำไมถึงต้องใช้เครื่องฟอกอากาศ ? (Why Air Purifier is needed ?)
3.ประเภทของยี่ห้อเครื่องฟอกอากาศ (Type of Air Purifier Brands)
4.ขนาดพื้นที่ห้อง (Room Size)
5.รูปแบบของการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ (Air Purifier Installation Types)
6.รูปทรงของเครื่องฟอกอากาศ (Air Purifier Shapes)
7.รู้จักกับ ชนิดของแผ่นกรองอากาศหลัก (Primary Air Filter Types)
8.ฟังก์ชั่นเสริมที่เกี่ยวกับการฟอกอากาศ (Purifying Functions)
9.ฟังก์ชั่นเสริมที่ไม่เกี่ยวกับการฟอกอากาศ (Nonpurifying Functions)
10.ฟังก์ชั่นเสริมเพื่อความสะดวกสบายอื่นๆ (Additional Convenience Functions)
11.ความน่าเชื่อถือของยี่ห้อสินค้า และผลิตภัณฑ์ (Brand and Product Reliability)
12.การดูแลรักษาเครื่องฟอกอากาศ (Air Purifier Maintenance)
และนี่คือคลิปวีดีโอความยาวประมาณ 3.18 นาที สรุปให้ดูกันว่า pm 2.5 น่ากลัวขนาดไหน และทำไมเราจึงจำเป็นต้องมี เครื่องฟอกอากาศ ไว้ภายในบ้านกันนะคะ
เครื่องฟอกอากาศ เป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า ชนิดหนึ่ง ที่ใช้หลักการเดียวกับ พัดลมทั่วไป (Fan) ที่อาศัยชุดพัดลมดูดอากาศ ที่ประกอบไปด้วยใบพัด และมอเตอร์ ในการดูดอากาศเข้าไปภายในตัวเครื่อง และปล่อยออกมาด้านนอก เพียงแต่ว่า เครื่องฟอกอากาศ นั้นมีการนำเอาระบบการกรองอากาศ (Air Purification System) ต่างๆ เสริมเติมเข้าไปนั่นเอง
ซึ่งเครื่องฟอกอากาศในแต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อนั้น ก็มีเทคโนโลยีการกรอง หรือฟอกอากาศ ที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยหลักๆ แล้วจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า แผ่นกรองอากาศ (แต่บางเครื่องก็ไม่มีแผ่นกรองอากาศ อย่างเช่น เครื่องฟอกอากาศประจุลบ เป็นต้น) ซึ่งก็จะมีหลายชั้น เพราะแผ่นกรองอากาศในแต่ละชั้นนั้น ก็จะมีหน้าที่ ที่จะต้องคอยดูดซับสิ่งต่างๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศ และถูกดูดเข้ามาภายในเครื่อง ที่แตกต่างกันออกไป อาทิ ละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่นละอองขนาดใหญ่ (PM 10) ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ ฝุ่นจิ๋ว (PM 2.5) กลิ่นไม่พึงประสงค์ สารเคมี เชื้อโรคต่างๆ อย่าง เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย แต่ส่วนมากจะกรองเชื้อไวรัสไม่ได้ เพราะมีขนาดเล็กมากๆ เกินกว่าที่แผ่นกรองอากาศจะสามารถกรองได้
ในปัจจุบันนี้มลภาวะทางอากาศก็เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมฆหมอกที่ปกคลุมทั่วเมืองกลับไม่ใช่หมอกยามเช้า เหมือนที่เรารู้จักกันดีในอดีต แต่กลับกลายเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กมากๆ ที่เข้ามาปกคลุมแทน และที่สำคัญมันปกคลุมทั้งวันทั้งคืน ไม่ใช่แค่เฉพาะยามเช้าเท่านั้น
โดยฝุ่นละอองขนาดเล็กมากๆ นี้มีชื่อเรียกยอดฮิตอีกชื่อคือ “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5” นั่นเอง สาเหตุที่เรียกมันว่า “PM 2.5” ก็เพราะว่า ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของมันนั้นเล็กถึง 2.5 ไมครอน (หรือเทียบเท่า 0.0025 มิลลิเมตร หรือ 0.00025 เซนติเมตร) ซึ่งหากเปรียบเทียบกันง่ายๆ เลยก็คือ เส้นผมคนเรายังมีขนาดเพียงแค่ 50-100 ไมครอน แต่อันนี้ 2.5 ไมครอนจะเล็กขนาดไหน และยิ่งถ้าสูดหายใจเข้าไปมากๆ ก็จะส่งผลอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ได้ ด้วยเหตุนี้เอง เครื่องฟอกอากาศจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นกับเรามากๆ ถ้าพักอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆ
ปัจจุบันนี้มีเครื่องฟอกอากาศที่จำหน่ายอยู่ในบ้านเราหลายยี่ห้อเหลือเกิน ซึ่งหลักๆ ก็จะขอจำแนกประเภทของยี่ห้อเครื่องฟอกอากาศ ออกมาเป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ แบรนด์แบบ OBM (Original Brand Manufacturer) และ OEM (Original Equipment Manufacturer) ลองมาดูความแตกต่างกันด้านล่างนี้ เลยดีกว่า
3.1 OBM – Original Brand Manufacturer (เจ้าของแบรนด์ผลิตสินค้าเอง)
แบบแรกคือผู้ผลิตเครื่องฟอกอากาศในรูปแบบ “OBM หรือ Original Brand Manufacturer” เป็นแบรนด์ เครื่องฟอกอากาศที่เจ้าของแบรนด์เขาคิดค้นเทคโนโลยีเอง ผลิตเอง ทำการตลาดเอง และขายเอง โดยส่วนมากแล้วก็จะเป็นแบรนด์ หรือยี่ห้อ ที่พวกเรารู้จักคุ้นหูคุ้นตาในตลาดกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว อย่างเช่น ยี่ห้อ Sharp/ Hitachi/ Toshiba/ Panasonic/ Honeywell/ BlueAir/ Daikin ฯลฯ อีกมากมาย
ส่วนมากแล้ว แบรนด์เหล่านี้จะมีโรงงานผลิตสินค้าเป็นของตัวเอง หรืออาจจะเป็นโรงงานอื่นที่ผูกขาดการผลิตอยู่กับแบรนด์นี้อยู่ พูดง่ายๆ ก็คือ ผลิตให้เฉพาะ (Exclusive) แบรนด์นี้แบรนด์เดียวก็เป็นได้ครับ
3.2 OEM – Original Equipment Manufacturer (เจ้าของแบรนด์จ้างโรงงานอื่นผลิตสินค้าให้)
แบบที่ 2 คือเครื่องฟอกอากาศรูปแบบ “OEM (Original Equipment Manufacturer)” ซึ่งเครื่องฟอกอากาศประเภทนี้ ทางเจ้าของแบรนด์ ก็จะไปจ้างผลิตสินค้า กับโรงงานผลิตเครื่องฟอกอากาศที่เขาทำอยู่แล้วในต่างประเทศ
โดยส่วนมาก แล้วก็จะมีโรงงานในประเทศจีน หรือจากเกาหลีใต้ ที่รับทำสินค้าแบบ OEM กันเยอะ โดยเจ้าของแบรนด์ในเมืองไทย (หรือประเทศอื่นๆ) ก็จะนำเครื่องฟอกอากาศ มาตีแบรนด์สินค้า ที่เป็นชื่อที่ตัวเองคิดขึ้นมา ซึ่งเราก็อาจจะหาแบรนด์นี้ ได้เฉพาะในประเทศไทยที่นี่ที่เดียวเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน เราก็อาจจะเห็นสินค้าแบบเดียวกันนี้ ที่มีรูปทรง และฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ (ชนิดเหมือนกันเป๊ะ) ถูกจำหน่ายในประเทศอื่น แต่คนละยี่ห้อ หรือคนละสีกันก็เป็นได้ครับ
ยกตัวอย่างเช่น เครื่องฟอกอากาศที่ถูกผลิตขึ้นที่ประเทศเกาหลีใต้ยี่ห้อหนึ่ง ในประเทศไทยนั้น ถูกขายภายใต้ชื่อว่า Airbot แต่ในขณะที่ต่างประเทศ อย่างเช่นที่ประเทศฮ่องกงก็จะใช้ชื่อว่า Luva PureAir Plus ซึ่งฟังก์ชั่นหรืออะไรอื่นๆ เหมือนกันเป๊ะเลย แต่คนละสีกัน เป็นต้น
เรื่องนี้สำคัญมากๆ เพราะเราควรจะต้องเลือกเครื่องฟอกอากาศ ที่มีขนาดเหมาะสมกับพื้นที่ห้องของเราด้วย โดยแต่ละตัวจะมีสเปคระบุชัดเจนอยู่แล้วว่า เครื่องฟอกอากาศเครื่องนี้รองรับพื้นที่กี่ตารางเมตร ซึ่งแน่นอนเราต้องคำนวณพื้นที่ของห้องเราก่อนที่จะไปซื้อ เพราะถ้าห้องมีขนาดใหญ่ แต่เครื่องฟอกอากาศมีขนาดเล็ก ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะนำมาใช้ (เหมือนเสียเงินไปฟรีๆ)
ข้อแนะนำ
“ทางที่ดี เราควรจะซื้อเครื่องฟอกอากาศ ที่รองรับพื้นที่ได้มากกว่าพื้นที่ห้องที่จะนำเครื่องฟอกอากาศไปวางจริงๆ ยกอย่างเช่นห้องเรามีขนาด 20 ตารางเมตร เราควรซื้อเครื่องฟอกอากาศที่รองรับพื้นที่ขนาด 25-30 ตารางเมตร เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพจากการฟอกอากาศจริงๆ”
เครื่องฟอกอากาศ เครื่องกรองอากาศ
ส่วนนี้จะพูดถึงเครื่องฟอกอากาศ 4 ประเภท ที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้อ่านได้ลองเปรียบเทียบความเหมาะสมกันก่อนจะเลือกซื้อมาใช้งาน
5.1. เครื่องฟอกอากาศตั้งโต๊ะ (Desktop Air Purifier) หรือ เครื่องฟอกอากาศตั้งพื้น (Tower Air Purifier) เครื่องฟอกอากาศตั้งโต๊ะ หรือเครื่องฟอกอากาศตั้งพื้น เป็น เครื่องฟอกอากาศ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่า นิยมมาก ที่สุดในบรรดาเครื่องฟอกอากาศ ทั้งหมดเลยก็ว่าได้ เครื่องฟอกอากาศประเภทนี้ เหมาะกับการใช้ในบ้านพัก คอนโดมิเนียม และออฟฟิศ หรือสำนักงานขนาดเล็ก ในปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ แต่ละรุ่นก็จะมีระบบการทำงาน ขนาด และ รูปทรงของตัว เครื่องฟอกอากาศ ที่แตกต่างกันออกไป
โดยเครื่องฟอกอากาศประเภทนี้นั้น จะมีลูกเล่น หรือความสามารถ ให้เลือกใช้มากกว่า เครื่องฟอกอากาศชนิดอื่นๆ เนื่องจากความนิยมสูง และลักษณะ รูปทรงของตัวเครื่อง ที่ไม่ใหญ่ และไม่เล็กจนเกินไป จึงสามารถใส่ ฟังก์ชั่นเสริมที่เกี่ยวกับการฟอกอากาศ และ ฟังก์ชั่นเสริมที่ไม่เกี่ยวกับการฟอกอากาศ เข้าไปได้มากมายกว่า เครื่องฟอกอากาศประเภทอื่นๆ
เครื่องฟอกอากาศจะสามารถทำงานได้ครอบคลุมก็ต่อเมื่อ เลือกขนาดของเครื่องให้เหมาะสมกับการใช้งาน นอกจากนี้สิ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือ รูปลักษณ์ภายนอกของตัวเครื่อง เนื่องจากต้องวางไว้ในบ้านพัก หรือสำนักงาน
ดังนั้นการให้ความสำคัญกับเรื่องการออกแบบก็เป็นเรื่องที่หลายครอบครัวคำนึงถึง เพราะเหมือนเป็นของตกแต่งบ้านชิ้นหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในยุคนี้ไปแล้ว
5.2. เครื่องฟอกอากาศในรถยนต์ (Car Air Purifier)
ขณะเครื่องฟอกอากาศ IQAir Atem Car ถูกติดตั้งอยู่ภายในรถยนต์
เครื่องฟอกอากาศในรถยนต์ เป็นเครื่องฟอกอากาศขนาดเล็ก ที่สามารถติดตั้งได้หลากหลายรูปแบบ เพื่อการกรองฝุ่นละออง มลพิษ หรือสารเคมีต่างๆ ที่อยู่บนท้องถนน เพราะมลพิษบนท้องถนนเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะสภาพการจราจรที่ติดขัด อากาศในรถก็ไม่ได้ถ่ายเทมากนัก ทำให้เกิดปริมาณฝุ่นสะสม เครื่องฟอกอากาศในรถยนต์ จึงเป็นอุปกรณ์เสริมอีกอย่างที่ควรมีในยุคนี้
ที่จริงในรถบางรุ่น จะมีไส้กรองอากาศอยู่ที่ช่องเดินลมของแอร์ ซึ่งคุณภาพก็แตกต่างกันไป ในบางรุ่นจะทำหน้าที่กรองฝุ่นแบบหยาบเท่านั้น ต่างจากเครื่องกรองฝุ่นในรถยนต์ที่ออกแบบมาเพื่อดักจับฝุ่นขนาดเล็ก และเชื้อโรคโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังช่วยกรองกลิ่นไม่พึงประสงค์ด้วย
ขณะวางเครื่อง CONOCO S1 ไว้บนคอนโซลหน้ารถ
การเลือกเครื่องฟอกอากาศในรถยนต์ เพื่อคุณภาพอากาศที่ดี ในอันดับแรกควรคำนึงถึงขนาดของรถยนต์ เพื่อให้เครื่องฟอกอากาศทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ควรเลือกแบบที่ติดตั้งง่าย วางได้หลายจุด เพื่อประหยัดพื้นที่ใช้สอยภายในรถยนต์
เราควรเลือกเครื่องฟอกอากาศในรถยนต์ ที่มีความสามารถของการเปิดการทำงานเอง เมื่อมีการสตาร์ทรถ เพื่อไม่ให้เสียสมาธิในการขับขี่ หรือป้องกันการลืมเปิดใช้งาน เพราะบางครั้งตัวเครื่องอาจไม่ได้อยู่ในระดับสายตานั่นเอง
5.3. เครื่องฟอกอากาศฝังฝ้าเพดาน (Cassette Type Air Purifier)
เครื่องฟอกอากาศฝังฝ้าเพดาน (Cassette Type Air Purifier) (ภาพจาก : Mitsuta.com)
เครื่องฟอกอากาศฝังฝ้าเพดาน ลักษณะจะเหมือนกับ แอร์ฝังฝ้าเพดาน เป็นเครื่องฟอกอากาศ ที่เหมาะกับห้องขนาดใหญ่ นิยมใช้ในออฟฟิศหรือสำนักงานที่มีคนอยู่จำนวนมาก ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง แต่ก็แลกมาด้วยความสามารถที่เหนือกว่า เครื่องฟอกอากาศแบบตั้งโต๊ะ หรือตั้งพื้น เพราะการทำงานของเจ้าเครื่องนี้ก็คือ จะดูดอากาศเสียเข้าทางด้านล่าง 1 ทิศทาง และฟอกอากาศบริสุทธิ์ออกจากเครื่อง 4 ทิศทาง หรือ 360 องศา ทำให้ในห้องขนาดใหญ่มีคุณภาพอากาศที่ดี และกระจายอากาศสะอาดได้อย่างทั่วถึง ทั่วทุกมุมห้อง
เครื่องฟอกอากาศแบบติดเพดาน หรือ เครื่องฟอกอากาศแขวนใต้ฝ้าที่มีขายตามท้องตลาด ก็จะมีความสามารถหลักๆ คือ ดักจับและย่อยสลายฝุ่นขนาดเล็ก ส่วนมากจะช่วยกรองเชื้อรา แบคทีเรีย เชื้อไวรัส ลดกลิ่นอับภายในห้องได้อยู่แล้ว บางรุ่นเคลมว่า แผ่นกรองสามารถถอดล้างได้ ซึ่งจะต่างจากแบบตั้งโต๊ะตรงที่ไม่ต้องเปลี่ยนไส้กรองบ่อยๆ
5.4. เครื่องฟอกอากาศแบบสวมใส่ (Wearable Air Purifier)
แกะกล่องผลิตภัณฑ์ เครื่องฟอกอากาศแบบสวมใส่ EOS WAP-10
เครื่องฟอกอากาศแบบสวมใส่ ส่วนใหญ่จะมี 2 ชนิดคือ เครื่องฟอกอากาศคล้องคอ (Neck Strap Air Purifier) และ เครื่องฟอกอากาศห้อยคอ (Neck Hanging Air Purifier) ก็ถือเป็น แกดเจ็ต (Gadget) น้องใหม่ ที่กำลังได้รับความนิยมทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ โดยจะทำหน้าที่จัดการมลพิษในอากาศ ด้วยการปล่อยประจุลบ (Negative Ion หรือ Anion) ที่จะเข้ามาช่วยทำให้อนุภาค หรือฝุ่นขนาดเล็กมากๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศจับกันเป็นกลุ่มก้อน ก่อนที่จะตกลงสู่พื้นในที่สุด เนื่องจากมีมวลมากขึ้นนั่นเอง
ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละอองขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 หรือสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ เพื่อปกป้องเราจากการหายใจรับสิ่งเหล่านี้เข้าไปในร่างกาย ส่วนมากจะดีไซน์สวยงาม ใส่แล้วเหมือนเป็นเครื่องประดับชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว
ข้อดีของเครื่องฟอกอากาศแบบพกพา ก็คือช่วยฟอกอากาศได้ทุกที่ ทุกเวลา ใส่ติดตัวได้ตลอดทั้งวัน เหมาะกับคนที่มีโรคภูมิแพ้ หรืออยู่ในบริเวณที่มีผู้คนแออัดเป็นประจำ การเลือกซื้อควรคำนึงถึงอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ และการทำงานที่ไม่มีเสียงรบกวน รวมถึงน้ำหนักที่เหมาะสมสำหรับการสวมใส่ หากซื้อให้เด็กใช้งาน ควรเลือกรุ่นที่ออกแบบมาสำหรับเด็กเท่านั้น
รูปทรงของเครื่องฟอกอากาศ โดยหลักๆ จะมีอยู่ 2 แบบด้วยกันคือ เครื่องฟอกอากาศทรงเหลี่ยม และ เครื่องฟอกอากาศทรงกระบอก (หรือทรงกลม)
6.1. เครื่องฟอกอากาศทรงเหลี่ยม (Square Shape Air Purifier)
สำหรับเครื่องฟอกอากาศทรงเหลี่ยม ซึ่งก็อาจจะเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือแม้แต่ ทรงกึ่งเหลี่ยม ที่อาจจะมีบางส่วนโค้งเว้า หักมุม ต่างๆ ก็เพื่อความสวยงาม จัดว่าเป็นรูปทรงยอดฮิตของเครื่องฟอกอากาศเลยก็ว่าได้
โดยส่วนมากแล้วมากแล้ว เครื่องฟอกอากาศทรงเหลี่ยมนั้น อากาศจะไหลเข้าตัวเครื่องในทิศทางเดียว (หรืออย่างมากก็ 2 ทิศทาง) ซึ่งเท่าที่เห็นส่วนมากก็จะเป็นด้านหลัง หรือด้านใต้ของตัวเครื่อง ในขณะที่ช่องอากาศออกก็มักจะอยู่ ทางด้านข้าง หรือบน ของตัวเครื่อง
6.2. เครื่องฟอกอากาศทรงกระบอก หรือทรงกลม (Cylinder or Round Shape Air Purifier)
ข้อได้เปรียบข้อเครื่องฟอกอากาศทรงกระบอก คือ อากาศสามารถที่จะไหลเข้าเครื่องได้จากรอบๆ ตัว แบบทุกทิศทุกทาง (360 องศา) ในขณะที่อากาศออก ก็จะออกทางด้านข้าง หรือด้านบนของตัวเครื่อง ซึ่งรูปทรงแบบนี้ จะมีมิติในการฟอกอากาศมากกว่า เครื่องฟอกอากาศทรงเหลี่ยม
หัวใจสำคัญที่สุดของเครื่องฟอกอากาศ ก็คือ แผ่นกรองอากาศ (Air Filter) นั่นเอง โดยส่วนมาก เครื่องฟอกอากาศ จะมีแผ่นกรองอากาศหลักๆ อยู่ทั้งหมดประมาณ 2-3 แผ่นด้วยกัน (บางเครื่องอาจจะมากถึง 4-5 แผ่นก็มี) แต่โดยหลักๆ แล้ว (เกือบ 100%) ถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นเครื่องฟอกอากาศ ก็จะมีแผ่นกรองอากาศ ดังต่อไปนี้
แผ่นกรองอากาศชนิดนี้ บางยี่ห้ออาจเรียกว่า แผ่นกรองหยาบ หรือ แผ่นกรองชั้นแรก หรือ แผ่นกรองชั้นนอก (มีหลายชื่อเหลือเกิน แล้วแต่ผู้ผลิตจะเรียก) โดยตำแหน่งของมันจะอยู่ชั้นนอกสุด
7.1 แผ่นกรองอากาศชั้นต้น (Pre Filter)
โดยลักษณะจะเป็นแผ่นตาข่ายขนาดเล็ก ถึงปานกลาง ที่ถูกเย็บแบบถี่ๆ หรือบางรุ่นบางยี่ห้อ ก็จะเป็น แผ่นฟองน้ำบางๆ หรือบางรุ่นบางยี่ห้อ ก็มีทั้งคู่เลย (ทั้งแผ่นกรองตาข่าย และแผ่นฟองน้ำ) มีหน้าที่เอาไว้กรอง หรือดักจับฝุ่นละอองขนาดใหญ่ เอาไว้ชั้นนึงก่อนที่จะเข้าไปยังแผ่นกรองอากาศ HEPA เป็นลำดับต่อไป โดยส่วนมากแล้ว แผ่นกรองอากาศชนิดนี้จะสามารถนำมาล้างทำความสะอาดได้ และถ้าเป็นแผ่นฟองน้ำ ก็สามารถนำไปซักได้เช่นกัน
7.2 แผ่นกรองอากาศ HEPA (HEPA Filter)
แผ่นกรองอากาศ HEPA (ย่อมาจากคำว่า “High Efficiency Particulate Air” หรือ “High Efficiency Particulate Absorption“) เป็นแผ่นกรองอากาศประสิทธิภาพสูง ที่มีความสามารถในการกรองฝุ่นขนาดเล็กมากๆ (หรือฝุ่นละออง PM 2.5) ได้ โดยคุณสมบัติแผ่นกรองชนิดนี้คือ กรองฝุ่นขนาดเล็กมากถึง 2.5 ไมครอน (μm) ได้ รวมไปถึงกรองเชื้อรา แบคทีเรีย มลพิษต่างๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศได้เป็นอย่างดี
วิธีการสังเกตง่ายๆ คือ จะเป็นแผ่นที่มีร่องลึกๆ อยู่ลักษณะเป็นขุยๆ หน่อย โดยส่วนมากแล้วทางผู้ผลิตจะไม่แนะนำให้ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำ เพราะจะทำให้แผ่นกรองเปื่อย และเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น แต่ก็มีส่วนน้อยที่ยอมให้นำไปล้างน้ำได้ (แต่ก็ห้ามใช้ผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาดใดๆ อยู่ดี
7.3 แผ่นกรองคาร์บอน หรือ แผ่นกรองกลิ่นไม่พึงประสงค์ (Carbon Filter หรือ Deodorizing Filter)
แผ่นกรองคาร์บอน หรือ แผ่นกรองกลิ่น มีหน้าที่ใช้กรองกลิ่นไม่พึงประสงค์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กลิ่นควันบุหรี่ กลิ่นอาหาร กลิ่นผายลม (กลิ่นตด) รวมไปถึงการกรอง สารฟอลมาลดีไฮด์ สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs ย่อมาจากคำว่า “Volatile Organic Compounds“) อย่างเช่นกลิ่นสี กลิ่นย้ำยาย้อมผอม น้ำยาทาเล็บ ของคุณสุภาพสตรี การกรองก๊าซ กรองสารเคมีต่างๆ ก็มีคุณสมบัติอีกด้วยเช่นกัน
โดยวิธีการสังเกตง่ายๆ ของแผ่นกรองอากาศชนิดนี้คือ คือสีของแผ่นกรอง จะเป็นสีเข้มๆ ดำๆ หน่อย เพราะมันมีส่วนผสมของ “ถ่าน (Carbon)” นั่นเอง บางทีเอาแผ่นกรองชนิดนี้มาเขย่าๆ อาจได้ยินเสียงเม็ดถ่านกัมมันต์ (Activated Charcoal หรือ Activated Carbon) อยู่ข้างในก็ได้ (อันนี้แล้วแต่ผู้ผลิตจะทำออกมา)
7.4 แผ่นกรองอากาศแบบออลอินวัน – รวมทั้งหมด (All-in-One Air Filter)
โดยแผ่นกรองอากาศแบบออลอินวัน จะเป็นการรวมแผ่นกรองทั้งหมดเข้าไว้ในแผ่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น (1) แผ่นกรองอากาศชั้นต้น (2) แผ่นกรองอากาศ HEPA (3) แผ่นกรองคาร์บอน หรือ แผ่นกรองอื่นๆ (ถ้ามี) ซึ่งทางผู้ผลิตก็จะจัดเรียงลำดับชั้นของการกรองอากาศให้แบบเสร็จสรรพ เพื่อความสะดวกสบายในการติดตั้งใช้งาน รวมไปถึง ง่ายต่อการดูแลรักษา และจัดจำหน่ายของทางผู้ผลิตเช่นกัน
ในขณะที่ด้านการดูแลรักษาก็ง่ายๆ คือ “ไม่ต้องทำอะไรกับมันเลย” เพราะโดยส่วนมากแล้ว จะแกะ หรือรื้อออกมาก็ไม่ได้เลย ซึ่งก็ไม่สามารถนำไปล้างน้ำ หรือไปซักได้เลย เพราะภายในมีแผ่นกรองหลายชนิดอยู่ เกรงว่าจะเสื่อมประสิทธิภาพลงอย่างรวดเร็ว ข้อแนะนำคือ เมื่อถึงอายุการใช้งานที่ทางผู้ผลิตระบุเอาไว้ก็ต้อง “เปลี่ยนสถานเดียว”
เท่าที่เห็นมาเครื่องฟอกอากาศหลายเครื่องจะมี ฟังก์ชั่นเสริมที่ช่วยในการฟอกอากาศอีก เพื่อสร้างความโดดเด่นให้แก่ผลิตภัณฑ์ อย่างเช่น
8.1. หลอดไฟ UV ฆ่าเชื้อโรค (UV Sterilizing Lamp)
หลอดไฟปล่อยแสง UV (สีจะออกม่วงๆ หน่อย) ถูกติดตั้งอยู่ด้านในของตัวเครื่องฟอกอากาศ ซึ่งเป็นรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่อยู่ในแสงแดด โดยส่วนมากแล้ว เขาจะใช้รังสี UV ประเภท UVC ที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรคอย่าง เชื้อแบคทีเรีย หรือ เชื้อราที่ลอยอยู่ในอากาศ ได้เป็นอย่างดี
ข้อดี 🙂
ช่วยกำจัด และฆ่าเชื้อโรค เชื้อจุลินทรีย์ เชื้อรา หรือแม้แต่ เชื้อแบคทีเรีย ที่ลอยอยู่ในอากาศให้อีกแรง (ช่วยกันกับแผ่นกรองอากาศต่างๆ)
ข้อเสีย 🙁
มีค่าบำรุงรักษาที่เพิ่มขึ้น เพราะหลอดไฟ UV ฆ่าเชื้อโรค เมื่อใช้ไปนานๆ หลอดอาจจะขาดได้ ต้องเปลี่ยนใหม่ และส่วนมากก็ถอดเปลี่ยนเองยากอีก และเป็นหลอดเฉพาะรุ่นของมัน ซึ่งอาจจะต้องส่งศูนย์บริการกันเลยทีเดียว
การมองหลอดไฟ UV ที่กำลังสว่างอยู่ อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ (ในกรณีที่เครื่องฟอกอากาศไม่มีเซ็นเซอร์การเปิดฝาเครื่อง)
8.2 ตัวปล่อยประจุไฟฟ้า หรือปล่อยไออน (IONIZER)
ฟังก์ชั่นนี้ไม่ได้มีส่วนช่วยในการกรองอากาศแต่อย่างใด แต่มันมีส่วนในการเรียกฝุ่นขนาดเล็กมากๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศให้เข้ามาใกล้ๆ กับตัวเครื่องฟอกอากาศ ด้วยการ ปล่อยประจุไฟฟ้าลบ (ANION หรือ Negative Ion) ออกไปในอากาศ ผ่านทางเข็มปล่อยประจุ (ส่วนมากเราจะไม่เห็นหรอก เพราะมันอยู่ภายในตัวเครื่อง)
และเมื่อฝุ่นลอยเข้ามาใกล้ๆ เครื่องฟอกอากาศ มันก็จะถูกพัดลมดูดอากาศ ดูดเข้าไปในเครื่องอีกที พูดง่ายๆ คือคือ ตัวปล่อยประจุไฟฟ้าลบนี้มีหน้าที่ “เรียกแขก” หรือ “เรียกฝุ่นเข้ามาใกล้ๆ เครื่องฟอกอากาศ” นั่นเอง
หมายเหตุ : เทคโนโลยีการปล่อยประจุไฟฟ้าเข้าไปในอากาศนี้ ในแต่ละยี่ห้อจะมีชื่อเฉพาะของเขาอยู่ ซึ่งก็จะเป็นชื่อทางการค้าของเขา ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า Sharp จะเทคโนโลยีนี้ว่า พลาสม่าคลัสเตอร์ (Plasmacluster) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสิทธิบัตรเฉพาะจาก Sharp เท่านั้น หลักการคร่าวๆ คือมันจะปล่อยไอออนทั้งประจุไฟฟ้าลบ (-) และประจุไฟฟ้าบวก (+) ออกมาพร้อมๆ กันเพื่อเป็นการทำลายผนังของเซลล์เชื้อรา เชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย (Bacteria) ซึ่งก็จะส่งผลทำให้อากาศสะอาดบริสุทธิ์มากขึ้นไปอีก นั่นเอง
ในขณะที่ฝั่ง แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า LG จากแดนกิมจิประเทศเกาหลี ก็จะมีชื่อเฉพาะที่ใช้เรียกเทคโนโลยีนี้ว่า พลาสมาสเตอร์ ไอออไนส์เซอร์ พลัส (Plasmaster Ionizer Plus) เป็นต้น
ข้อดี 🙂
เรียกฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่ลอยอยู่ไกลๆ ให้ลอยเข้ามาอยู่ใกล้ๆ เครื่องฟอกอากาศ ก่อนจะถูกดูดเข้าไปอีกที
ข้อเสีย 🙁
มีค่าบำรุงรักษาที่เพิ่มขึ้น เพราะเข็มปล่อยประจุไฟฟ้า ที่อยู่ภายในตัวเครื่องอาจจะเสียได้ตามอายุการใช้งาน
8.3 แผ่นกรองอากาศเสริมพิเศษ (Special or Additional Air Filters)
เครื่องฟอกอากาศบางรุ่น บางยี่ห้อ นั้นก็อาจจะมี แผ่นกรองอากาศเสริมพิเศษ มาให้เพิ่มเติม ที่นอกเหนือจาก แผ่นกรองอากาศหลัก ที่ให้มาอยู่แล้ว เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการกรองอากาศให้มากขึ้นไปอีก อาทิ
Allergen Filter (แผ่นกรองสารก่อภูมิแพ้) : แผ่นกรองอากาศที่เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพของ แผ่นกรองอากาศ HEPA ที่มีคุณสมบัติในการกรองพวกเชื้อโรคอย่างละอองเกสรดอกไม้ หรือแม้แต่ตัวไรฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศอยู่แล้ว ตัวนี้ก็เข้ามาช่วยเสริมอีกชั้น
Harmful Gas Filter or Photocatalyst Filter (แผ่นกรองก๊าซอันตราย หรือ แผ่นกรองสารเคมี) : ต่อยอดจากแผ่นกรองคาร์บอน ที่มีคุณสมบัติในการกรองกลิ่นไม่พึงประสงค์ หรือแม้แต่ ก๊าซอันตราย อย่างเช่น ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ของยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ โดยแผ่นกรองอากาศตัวนี้ เขาอาจจะมีส่วนผสมของถ่านกัมมันต์ และวัสดุอื่นๆ เข้าไปด้วย ซึ่งก็แล้วแต่สูตรของผู้ผลิตเครื่องฟอกอากาศ ในแต่ละยี่ห้อนั่นเอง
สำหรับเครื่องฟอกอากาศรุ่น บางยี่ห้อ ก็ยังได้เสริมเอาความสามารถ หรือฟังก์ชั่นอื่นๆ เข้าไปอีก โดยความสามารถเหล่านี้ ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการฟอกอากาศเลย อาทิ
9.1 ฟังก์ชั่นการเพิ่มความชื้นในอากาศ (Humidification Function)
เครื่องฟอกอากาศที่มีฟังก์ชั่นนี้ จะมีถังน้ำขนาดใหญ่ อยู่ภายในตัวเครื่อง (ต้องเติมน้ำก่อนใช้งาน) เพื่อที่จะค่อยๆ ปล่อยละอองน้ำออกมาในอากาศ เพื่อไม่ให้อากาศอยู่ในสภาวะที่แห้งจนเกินไป เหมาะสำหรับผู้ที่ผิวแห้ง หรือผู้ที่เส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตกบ่อยๆ (มีเลือดกำเดาออกบ่อยๆ)
โดยเครื่องฟอกอากาศชนิดนี้มักจะมีเซ็นเซอร์วัดความชื้น (Humidity Sensor) อยู่ภายในด้วย เพื่อคำนวณการปล่อยไอน้ำออกมาให้เหมาะสมกับระดับความชื้นภายในห้องเพื่อความสบายของผู้อยู่อาศัย แต่ในขณะเดียวกันจะเราก็จะต้องหมั่นตรวจสอบปริมาณน้ำในถังบ่อยๆ ด้วยว่าน้ำหมดถังแล้วหรือยัง
ข้อดี 🙂
ช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ ทำให้อากาศไม่แห้ง ส่งผลให้ผิวไม่แห้ง ผิวไม่แตก ลดโอกาสการเกิดเลือดกำเดาไหล
ภายในเครื่องฟอกอากาศจะต้องมีเซ็นเซอร์วัดความชื้น เพื่อส่งข้อมูลไปประมวลผลในการปล่อยละอองน้ำออกมาจากตัวเครื่องให้เหมาะสมกับสภาพอากาศปัจจุบันด้วย และส่วนมากมักจะมีหน้าจอแสดงความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเป็นตัวเลข หรือเป็นสีที่สื่อความหมาย พูดง่ายๆ คือเหมือนได้ เครื่องวัดความชื้นในอากาศ ไปในตัว
ข้อเสีย 🙁
ต้องหมั่นเติมน้ำในถังน้ำบ่อยๆ (การที่จะเติมบ่อยหรือไม่บ่อย ก็ขึ้นอยู่สภาพอากาศในขณะนั้นว่ามีความชื้นมากน้อยเพียงใด)
ต้องหมั่นทำความสะอาดถังน้ำบ่อยๆ ด้วย เพราะเมื่อใช้ไปเรื่อยๆ ภายในถังจะมีลักษณะของมูกเหนียวๆ อยู่ (ทั้งๆ ที่ใช้น้ำกรองแล้วก็ยังมีมูกอยู่)
ราคาค่าบำรุงรักษาจะสูงกว่า เนื่องจากมีอุปกรณ์ที่ใช้มากกว่าเช่น ถังน้ำ ชุดถาดทำไอน้ำ หรือแม้แต่ แผ่นกรองไอน้ำ (ที่มีอายุการใช้งานเหมือนกัน)
9.2 ฟังก์ชั่นการลดความชื้นในอากาศ (Dehumidification Function)
ฟังก์ชั่นนี้ยังคงมีถังน้ำอยู่ภายในตัวเครื่องฟอกอากาศเช่นกัน แต่ว่าเป็นถังน้ำเปล่า (ไม่ต้องเติมน้ำก่อนใช้งาน) โดยหน้าที่หลักๆ จะ ตรงกันข้ามกับ การเพิ่มความชื้นในอากาศ (ข้อ 4.1) อย่างสิ้นเชิง เพราะหน้าที่ของมันคือการดูดเอาไอน้ำในอากาศ (ดูดความชื้น) เข้าไปเก็บภายถังน้ำ และเราจะต้องคอยหมั่นนำเอาน้ำในถังไปเททิ้งอีกด้วย
โดยความชื้นนั้นเกิดมาจากการคายน้ำของพืชรอบๆ หรือแม้แต่ในช่วงฝนตก (หรือฝนหยุดตกใหม่ๆ) หรือแม้แต่ห้องน้ำที่อยู่ภายในห้องนอน หลังอาบน้ำเสร็จ (ถ้าไม่เช็ดห้องน้ำให้แห้ง) ก็อาจจะมีความชื้นสะสมอยู่ในปริมาณมากด้วยเช่นกัน
ข้อดีของฟังก์ชั่นนี้ก็คือ มันจะช่วยดูดความชื้นที่อยู่ในอากาศออกไป เพราะการมีความชื้นภายในห้องมากๆ จะส่งผลเสียให้กับข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านได้ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า อาจขึ้นราได้ แถมยังเป็นสภาพแวดล้อมชั้นดีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จะมาอาศัยอยู่กับเราได้ ในด้านสุขภาพก็อาจจะรู้สึกร้อนอบอ้าว เหงื่อออกง่าย ครั่นเนื้อครั่นตัว แต่การมีฟังก์ชั่นการลดความชื้นในอากาศนี้ จะทำให้เราสบายตัวมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ข้อดี 🙂
ช่วยลดความชื้นในอากาศที่อาจจะมีมากเกินไป อันเป็นสาเหตุของการเกิดเชื้อราบนข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน หรือแม้แต่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย
ภายในเครื่องฟอกอากาศจะต้องมีเซ็นเซอร์วัดความชื้น เพื่อส่งข้อมูลไปประมวลผลในการดักจับความชื้น (น้ำ) ในอากาศ และส่วนมากมักจะมีหน้าจอแสดงความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเป็นตัวเลข หรือเป็นสีที่สื่อความหมาย เรียกได้ว่าเหมือนได้ เครื่องวัดความชื้นในอากาศ ไปในตัว
ข้อเสีย 🙁
ต้องคอยหมั่นนำน้ำไปเททิ้ง (การที่เทน้ำในถังทิ้งบ่อย หรือไม่บ่อย ก็ขึ้นอยู่สภาพอากาศในขณะนั้นว่ามีความชื้นมากน้อยเพียงใด)
ราคาค่าบำรุงรักษาจะสูงกว่า เนื่องจากมีอุปกรณ์ที่ใช้มากกว่าเช่นกัน
9.3 ฟังก์ชั่นการดักยุง (Mosquito Catching Function)
Air Purifier Glue Sheet
แผ่นกาวดักยุง (Glue Sheet)
ฟังก์ชั่นนี้เห็นจะมี เครื่องฟอกอากาศ ของ Sharp ที่ผลิตขึ้นมาเป็นตัวแรกของโลก (ดูรายละเอียดรีวิว เครื่องฟอกอากาศดักยุงของ Sharp บนทาง Thanop.com) โดยมันเป็นการนำเอาสิ่งที่เครื่องฟอกอากาศทั่วๆ ไปมีอยู่แล้ว มาต่อยอดด้วยการเพิ่มความสามารถบางอย่างเข้าไป เพื่อให้มันมีความสามารถในการดักยุงได้นั่นเอง โดยหลักการของมันก็คือ มันจะต้องมีองค์ประกอบต่างๆ ดังต่อไปนี้
ความสามารถเสริมเหล่านี้ ก็เป็นฟังก์ชั่นที่ถูกเพิ่มเข้ามาให้ผู้ใช้งาน ซึ่งเครื่องฟอกอากาศในบางรุ่น บางยี่ห้อก็มี บ้างก็ไม่มี อันนี้ก็แล้วแต่ว่าเขาจะใส่มาให้หรือเปล่า ขึ้นอยู่กับราคาของเครื่องด้วยเช่นกัน
10.1. ฟังก์ชั่นป้องกันเด็ก (Child Lock Function)
10.2. โหมดนอนหลับ หรือ โหมดกลางคืน (Sleep Mode or Night Mode)
10.3. ฟังก์ชั่นตั้งเวลาเปิดหรือปิดเครื่องล่วงหน้า (Timer or Auto On/Off Function)
10.4 ฟังก์ชั่นการใช้งานแบบไร้สาย หรือพกพา (Cordless or Portable Functions)
เนื่องจากเครื่องฟอกอากาศ ถือเป็นสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ (Health Product) ดังนั้นก่อนที่จะซื้อหา ก็ควรที่จะศึกษาหาข้อมูลของทางผู้ผลิตสักนิดนึง เพื่อให้เราได้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในราคาที่คุ้มค่ามากที่สุด โดยปัจจัยในการพิจารณา มีหลักๆ อยู่ 3 ข้อดังต่อไปนี้
Brand (ยี่ห้อสินค้า) : ถือเป็นปัจจัยแรกๆ ที่ผู้ที่สนใจจะซื้อเครื่องฟอกอากาศ มักจะตั้งคำถามว่า “เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อไหนดี ?” ซึ่งโดยมากแล้ว ความสามารถต่างๆ ขอให้เน้นดูจากความน่าเชื่อถือของแบรนด์เป็นหลัก และการบริการหลังการขายจะดีกว่า เพื่อความสบายใจของลูกค้าในระยะยาว
Verified and Test by Labs (การรับรองจากสถาบันทดสอบ) : เครื่องฟอกอากาศส่วนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากเป็นแบรนด์ที่เราไม่ค่อยรู้จัก ผู้ผลิตเขามักจะโชว์ผลการทดสอบ และผลการรับรองจากสถาบันทดสอบชั้นนำที่เป็นกลางในด้านต่างๆ เช่น ผลการทดสอบการกำจัดกลิ่น การกรองฝุ่น การกำจัดเชื้อโรค และอื่นๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นการสแกนใบรับรองเข้ามาแบบดิบๆ เพื่อความน่าเชื่อถือ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทย ถ้าหากพอมีเวลา ก็ลองแปลด้วย Google Translate ดู พร้อมค้นหาชื่อสถาบันทดสอบดูสักหน่อย ว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่
Product Warranty (การรับประกันสินค้า) : ส่วนมากเครื่องฟอกอากาศจะรับประกันเฉพาะตัวเครื่อง และมอเตอร์ของพัดลมดูดอากาศ เท่านั้น โดยมากแล้วก็จะไม่เกิน 1-2 ปี จะไม่รับประกันในส่วนของแผ่นกรองอากาศต่างๆ เพราะถือเป็นอะไหล่ชนิดสิ้นเปลือง (Consumable Parts)
การดูแลเครื่องฟอกอากาศส่วนมาก ถ้าเป็นเครื่องฟอกอากาศธรรมดาทั่วไป ก็จะเป็นการทำความสะอาด แผ่นกรองอากาศ เสียมากกว่า แต่สำหรับเครื่องฟอกอากาศที่มี ฟังก์ชั่นเสริมที่ไม่เกี่ยวกับการฟอกอากาศ (Nonpurifying Functions) ก็อาจจะมีการดูแลรักษาเพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อย
Facebook ; https://www.facebook.com/SmileShopInternational/
how to 5 เหตุผลที่บ้านคุณควรมี เครื่องฟอกอากาศ ติดบ้านไว้
ป้องกันได้ด้วยตังเอง จากโรคระบาดทางเดินหายใจ