โรคภูมิแพ้ อันตรายหรือไม่?

สารบัญ

โรคภูมิแพ้ (Allergy) คืออะไร

สาเหตุการเกิดภูมิแพ้

อาการของโรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้อันตรายหรือไม่?

การป้องกันและรักษาโรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ (Allergy) คืออะไร

          โรคภูมิแพ้ คือ โรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อตัวกระตุ้นที่ในภาวะปกติแล้วจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อรางกาย เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสรพืช อย่างมากผิดปกติ ทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้นั้น เช่น ถ้าเป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูกเมื่อเราหายใจเข้าไปทางจมูก สารก่อภูมิแพ้จะไปสัมผัสกับเยื่อบุโพรงจมูกแล้วทำให้เกิดการอักเสบในโพรงจมูก เกิดอาการคัดจมูก จาม มีน้ำมูกใสๆ คันจมูก ถ้าเป็นโรคหืดเมื่อหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าไปถึงหลอดลมก็จะทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลม แล้วหลอดลมก็จะตอบสนองด้วยการหดเกร็งเกิดอาการของหลอดลมตีบขึ้น โดยหายใจมีเสียงเหมือนนกหวีด ดังวี๊ดขึ้น อาจใช้เวลาก่อนเกิดอาการเป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมงก็ได้ ถ้าเป็นภูมิแพ้ที่ผิวหนัง ก็จะมีอาการคันที่ผิวหนัง หรือมีผื่นแบบลมพิษ ถ้าแพ้อาหารก็จะมีอาการปากบวม หรือมีลมพิษขึ้น ในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้มักมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวการณ์ตอบสนองไวกว่าปกติต่อสิ่งกระตุ้นที่ไม่ใช้สารก่อภูมิแพ้ได้ เช่น ความเย็น ความร้อน ความกดอากาศต่ำ หรือฝน ความชื้น ซึ่งภาวะนี้อาจอยู่นานเป็นวันหรือเป็นเดือนก็ได้ และสามารถเกิดอาการได้โดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้

 

สาเหตุการเกิดภูมิแพ้

  • พันธุกรรม โรคภูมิแพ้หลายโรค จะเกิดขึ้นได้ง่ายถ้ามีพันธุกรรม เช่น โรคหืด โรคแพ้อากาศ และผื่นภูมิแพ้ในเด็กยิ่งถ้ามีประวัติว่าทั้งพ่อและแม่เป็น จะยิ่งมีโอกาศมากกว่าพ่อหรือแม่เป็นฝ่ายเดียว กล่าวคือถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้จะทำให้ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 30-50 แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาเป็นโรคภูมิแพ้จะมีผลให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึงร้อยละ 50-70 ในขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้เลยมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพียง 10%
  • โรคภูมิแพ้บางอย่าง สาเหตุจากพันธุกรรมไม่ค่อยเป็นปัจจัยสำคัญมากนัก เช่น ลมพิษ แพ้จาการสัมผัส เช่น แพ้เครื่องประดับ แพ้เครื่องสำอาง เป็นต้น
  • สิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะสารก่อภูมิแพ้ที่จะเข้าสู่ร่างกายเราเกิดจากสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น  ไม่ว่าสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าร่างกายโดยการหายใจ  การรับประทาน หรือการสัมผัส  สารก่อภูมิแพ้บางอย่างสังเกตได้ง่าย เช่น มีอาการหลังจากรับประทานทะเลอาจเกิดผื่นลมพิษภายในเวลาครึ่งชั่วโมง หรือกินยาแล้วมีผื่นขึ้น ผู้ป่วยกวาดบ้าน เล่นกับแมวหรือสุนัขแล้วเกิดอาการจาม คัดจมูกหรือหอบ
  • สารก่อภูมิแพ้บางอย่าง สังเกตได้ยากเพราะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น เกสร เชื้อราในอากาศ หรือไรฝุ่นในบ้าน ซึ่งพบมากตามที่นอน หมอน โซฟา ห้องรับแขก พรม ฯลฯ

           นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดของโรคภูมิแพ้ได้ง่ายขึ้นหรือมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น อากาศเย็น มลพิษในอากาศจากความควันรถ ควันโรงงาน อุตสาหกรรม ฝุ่นละอองตามท้องถนน ควันบุหรี่อีกด้วย

 

อาการของโรคภูมิแพ้

  • มีผื่นที่ผิวหนัง เช่นผื่นแพ้ ลมพิษ คันตามผิวหนัง
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม
  • ไอ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด โรคหอบ หืด
  • เคืองตาและตาแดง คัดจมูก
  • บวมรอบปาก อาเจียน และถ่ายเหลว
  • แสบคอ น้ำมูกไหลลงคอ หูอื้อ

 

โรคภูมิแพ้ อันตรายหรือไม่?

          โรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกรำคาญ อึดอัด ส่วนอันตรายที่อาจเกิดได้ ได้แก่                                                                                                                                                                                     1. การแพ้โดยตรง เช่น แพ้อาหาร แพ้แมลงกัดต่อยบางชนิด เป็นต้น อาการที่เกิดค่อนข้างมาก และเป็นในระยะเวลาสั้นๆ เช่น บวม, ผื่นคัน, หอบ หรือ ช็อค เสียชีวิตได้

โรคภูมิแพ้

 

         2. ผลกระทบข้างเคียงต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ไซนัสอักเสบ, หูน้ำหนวก, คออักเสบ เป็นต้น

โรคภูมิแพ้

 

 

การป้องกันและรักษาโรคภูมิแพ้

      1.การควบคุมสิ่งแวดล้อมและสารก่อภูมิแพ้    จากผลการวิจัย ได้มีการสำรวจผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศไทย มีการแบ่งชนิดของสารก่อภูมิแพ้ ออกเป็น 2 ประเภท ชนิดแรกเป็นสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน ได้แก่ ไรฝุ่น ฝุ่นบ้าน และแมลงสาบ เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยเป็น 3 อันดับแรก ซึ่งเราจะได้รับสารก่อภูมิแพ้ประเภทนี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น ในตอนนอน จะทำให้เรามีอาการเกือบทุกวัน ส่วนชนิดที่สอง เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่นอกบ้าน เช่น ละอองเกสรพืช วัชพืชต่างๆ  เชื้อรา สารก่อภูมิแพ้ประเภทนี้จะทำให้เกิดอาการชั่วคราวเฉพาะเวลาที่ออกนอกบ้าน  นอกจากสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าวแล้ว ยังมีตัวกระตุ้นทางกายภาพอีกที่ทำให้เกิดการอักเสบของโพรงจมูกหรือหลอดลม เช่น ความเย็น ความร้อน ความชื้น ความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลง ตัวอย่างง่ายๆ เช่น การที่มีอาการทุกครั้งก่อนหรือหลังฝนตก ส่วนประเภทสุดท้าย เป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น น้ำหอม สีทาบ้าน ควันไฟ กลิ่นสารเคมี กลิ่นธูป การป้องกันโรคภูมิแพ้ที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เช่น คนที่แพ้ไรฝุ่น ควรจะซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มด้วยความร้อน ร่วมกับการซักด้วยผงซักฟอก ถ้ามีเครื่องซักผ้าชนิดตั้งความร้อนได้ ก็ให้ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 60 องศา 30 นาที บนเตียงนอนไม่ควรมีตุ๊กตาผ้า ไม่ควรเลี้ยงสัตว์ในบ้าน ควรเก็บขยะให้มิดชิดไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของแมลงสาบ ไม่ควรสูบบุหรี่ภายในบ้าน

      2.การดูแลสุขภาพส่วนตัวและการออกกำลังกาย  ภาวะเครียดและการอดนอนจะทำให้อาการของภูมิแพ้แย่ลง ดังนั้นควรดูแลสุขภาพตัวเองไม่ให้เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่น การออกกำลังกายจะทำให้อาการของโรคภูมิแพ้ดีขึ้น แต่ต้องเลือกชนิดการออกกำลังกายที่เป็นแบบแอโรบิค เช่น การวิ่ง เดิน ว่ายน้ำ ไม่ออกกำลังกายในช่วงที่อาการของโรคหืดกำเริบ อากาศช่วงที่ออกกำลังกายไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป ใช้เวลาในการออกกำลังกายที่เหมาะสม

     3.การรักษาด้วยยา โดยแบ่งการรักษาโรคภูมิแพ้ออกเป็น 3 ระดับง่ายๆ ดังนี้

        3.1การใช้ยาบรรเทาอาการ   เช่น ยาแก้แพ้ แอนตี้ฮีสตามีน ยาขยายหลอดลม ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ในอดีตส่วนใหญ่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะได้รับการรักษาแค่ระดับนี้ จึงทำให้รู้สึกว่าโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่รักษายาก รักษาอย่างไรก็ไม่หาย ดังนั้นคนที่มีอาการภูมิแพ้ต่อเนื่องควรได้รับการรักษาในระดับที่ 2

        3.2การใช้ยาต้านการอักเสบ   มักจะอยู่ในรูปของยาสเตียรอยด์พ่นจมูก หรือสูดเข้าทางปาก

       3.3การใช้วัคซีนภูมิแพ้   เป็นการรักษาโดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย เริ่มจากปริมาณน้อยๆ และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ จนร่างกายเกิดความชินต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น ต่อไปเมื่อได้รับสารก่อภูมิแพ้นั้นอีก ผู้ป่วยก็จะไม่มีอาการ แต่ก่อนจะเลือกการรักษาด้วยการฉีดวัคซีน จำเป็นต้องตรวจให้ทราบก่อนว่ามีการแพ้สารอะไร ซึ่งทราบได้จากการทำทดสอบทางผิวหนัง และการเจาะเลือด ถ้าผู้ป่วยตอบสนองต่อการฉีดวัคซีน ในระยะต่อมาอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาประเภทอื่นอีกเลย

 

         

 

Facebook : Smile Shop International
Youtube : SmileShop International
Website : Smile Shop international

Leave a Reply

Your email address will not be published.