กระแสการปลูกต้นไม้ ไม้ด่าง ยังคงมีทิศทางที่ร้อนแรงและร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ชนิดที่ว่าหลายต่อหลายคนทิ้งงานประจำ หันมายึดอาชีพชาวสวนชาวไร่ ปลูกต้นไม้ใบด่างสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำได้อย่างมหาศาล เพราะราคาประมูลต่อต้นพุ่งทะยานตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักล้าน
จะว่าไปวงการ “ไม้ด่าง” ก็มีความคล้ายคลึงกับวงการ “พระเครื่อง” ตรงที่ว่า หากเนื้อใช่ ลายชัด พิมพ์นิยม ก็เป็นที่ต้องการของผู้ที่สนใจ แบบต้องแย่งกันใส่ราคาเพื่อให้ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ
เช่นเดียวกันกับไม้ด่าง ที่ด่างยังไงให้แพง ก็จะมีหลายรูปแบบอีก เพราะการด่างโดยปกติของต้นไม้ก็มีอัตราส่วนที่น้อยอยู่แล้ว และถ้ายิ่งด่างแล้วสวยอีก ยิ่งแพงเข้าไปใหญ่
ต้นไม้ใบด่าง บางต้นก็มีปัจจัยให้เกิดใบด่างตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการกลายพันธุ์ เพราะในธรรมชาติต้นไม้ส่วนใหญ่จะมีใบสีเขียว ส่วนต้นไม้ด่างบางต้นจะเป็นยีนเด่นที่ขยายพันธุ์ง่ายและโตเร็วก็จะราคาไม่แพง
เนื่องจากต้นที่เกิดใหม่ก็จะด่างเหมือนพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์แบบไม่ต้องลุ้น ซึ่งการที่ต้นไม้มีใบด่างจะได้จากเม็ดสีบริเวณใบทั้งสีขาว ครีม เหลือง ชมพู แดง ทำให้สวนมีสีสันสดใสมากยิ่งขึ้น นั่นจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีราคาแพง
3 ไม้ด่าง ช่วยฟอกอากาศ ยอดฮิตยอดนิยมที่คนชอบปลูกในบ้าน
1.ต้นยางอินเดีย่างชมพู
ต้นไม้ปลูกในร่ม ดูแลง่าย ช่วยฟอกอากาศได้ เรียกได้ว่า ยางอินเดีย เป็นต้นไม้ที่กระแสดีไม่มีตกจริง ๆ เพราะยังมีคนหาซื้อมาปลูกในบ้านกันเรื่อย ๆ แถมยังปลูกขายได้ราคาดีอีกต่างหาก สำหรับคนที่อยากจะซื้อต้นยางอินเดียมาจัดสวน หรือแต่งบ้าน และอยากรู้ว่าต้นไม้ชนิดนี้เขาปลูกกันยังไง ต้องดูแลแบบไหน ตายง่ายรึเปล่า มีประโยชน์อะไรบ้าง ตามเราไปหาคำตอบพร้อม ๆ กันเลย
เนื่องจากอยู่ในวงศ์เดียวกับต้นไทรใบสัก ทำให้บางคนสับสนระหว่างต้นไม้ 2 ชนิดนี้ ซึ่งสามารถสังเกตความแตกต่างได้จากใบ เพราะใบของไทรใบสักจะมีขนาดใหญ่กว่า ผิวใบด้านสีเขียวอ่อน ขอบหยักเล็กน้อย และมีเส้นใบชัดเจน
สายพันธุ์ต้นยางอินเดียยอดนิยม
ยางอินเดียมีหลายสายพันธุ์ด้วยกัน ที่นิยมปลูกในไทยมีประมาณ 3 สายพันธุ์ ได้แก่
ยางอินเดีย (Ficus elastica decora) นิยมปลูกเป็นไม้กระถาง มีลำต้นขนาดใหญ่ แข็งแรง ใบหนาดก สีเขียวสด ผิวใบมัน เพาะพันธุ์ง่าย เจริญเติบโตได้ดีในอากาศร้อน
ยางอินเดียด่าง (Ficus elastica variegata) ชนิดที่มีใบสีเหลืองสลับเขียวอ่อน ไม่แข็งแรงเท่าสายพันธุ์แรก แต่ก็สามารถปลูกได้ในไทย และเป็นที่นิยมของนักสะสมเช่นเดียวกัน
ยางอินเดียดำ (Ficus elastica Black Prince หรือ Black Knight) สายพันธุ์ที่นิยมปลูกประดับบ้านมากที่สุด มีลักษณะเด่นคือ ใบสีแดงเมื่อแตกยอดอ่อน ที่ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้มไปถึงดำเมื่อโต
วิธีปลูกยางอินเดีย
นิยมขยายพันธุ์ต้นยางอินเดียด้วยการปักชำและตอนกิ่ง เพราะทำง่าย ได้กิ่งพันธุ์เร็ว เมื่อได้ต้นที่แตกรากเรียบร้อย จึงค่อยนำไปปลูกลงแปลงหรือกระถาง ปลูกได้ดีในดินทุกประเภท โดยเฉพาะดินร่วนผสมทรายและวัสดุปลูก เช่น พีทมอส เปลือกสน มูลสัตว์ หรือขุยมะพร้าว เพื่อช่วยให้ดินระบายน้ำและอากาศได้ดี ชอบน้ำ แต่ก็ทนแล้งได้ จึงควรรดน้ำเป็นประจำทุก ๆ 2-3 วันต่อครั้ง หรือรดเมื่อหน้าดินแห้ง นอกจากนี้ยังทนแดดได้ดี แต่ก็ไม่ควรวางในบริเวณที่โดนแดดตรง ๆ
วิธีดูแลยางอินเดีย
ถ้าเป็นต้นยางอินเดียที่มีขนาดใหญ่ สามารถตัดแต่งกิ่งก้านให้เป็นทรงพุ่มแน่นได้ หรือถ้าเป็นต้นเล็ก ๆ ปลูกในกระถาง ควรหมั่นเช็ดทำความสะอาดใบด้วยผ้าหรือฟองน้ำนุ่ม ๆ ชุบน้ำบิดหมาด ให้เป็นมันลื่น สวยงาม และกระตุ้นให้ต้นเจริญเติบโตได้ดี นอกจากนั้นควรบำรุงด้วยปุ๋ยน้ำเดือนละครั้ง และเปลี่ยนดินทุก ๆ ปี
สิ่งที่ต้องระวังก็คือ โรครากเน่า หากรดน้ำเยอะเกินไปจนดินแฉะ และโรคใบเหลืองหรือใบร่วง เพราะต้นไม้ขาดน้ำ
ประโยชน์ของต้นยางอินเดีย
ประดับบ้านให้สวยงาม : ใบของต้นยางอินเดียมีสีเขียวเข้มสวย ตัดกับโทนสีสว่างของห้อง ทำให้ห้องดูไม่เรียบจนเกินไป เมื่อนำมาประดับตกแต่งห้องหรือบ้าน ก็จะทำให้เกิดความสวยงาม ร่มรื่น สบายตา แต่ไม่แนะนำให้ปลูกในบ้านที่มีสัตว์เลี้ยง เพราะสัตว์อาจได้รับอันตรายจากพิษของยางได้
ช่วยฟอกอากาศในบ้าน : ต้นยางอินเดียเป็นต้นไม้ที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดสารพิษที่ปนเปื้อนในอากาศ ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และเปลี่ยนสารพิษให้กลายเป็นอากาศบริสุทธิ์
ใช้ประโยชน์อื่น ๆ : เช่น นำใบมาทำพวงหรีดในงานศพ รวมไปถึงการนำน้ำยางที่แห้งแล้วใช้แทนยางลบได้
คนรักต้นไม้ประดับบ้าน ไม่ควรพลาดที่จะมี ต้นยางอินเดีย เอาไว้ในครอบครองเลยนะคะ เพราะนอกจากความสวยงามที่ตกแต่งบ้านให้น่าอยู่แล้ว ยังช่วยดูดซับสารพิษ และช่วยฟอกอากาศ คืนออกซิเจนบริสุทธิ์ให้กับเราได้อีกด้วย
2.มอนสเตอร่า
ราชินีไม้ใบ ปลูกประดับบ้านได้ แถมสร้างกำไรงาม
ลักษณะมอนสเตอร่า
มอนสเตอร่า (Monstera, Swiss Cheese Plant) หรือที่เรียกทั่วไปว่า พลูฉีก หรือ พลูแฉก มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลาง พบมากในป่าดิบชื้น เป็นต้นไม้ในวงศ์ Araceae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Monstera deliciosa Liebm. ลักษณะลำต้นเป็นข้อสั้น จัดอยู่ในกลุ่มไม้เลื้อย สามารถเลื้อยได้ไกล 4 เมตร มีจุดเด่นที่ใบเดี่ยวขนาดใหญ่ โคนใบเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบหยักลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ 5 แฉก ใบหนาผิวมัน มีทั้งสีเขียวเข้มและใบด่าง ออกดอกตามซอกใบ มีผลสีเขียว จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อผลสุกและส่งกลิ่นแรง
ทำไมมอนสเตอร่าเป็นที่นิยมในไทย
มอนสเตอร่า กลายเป็นต้นไม้อีกหนึ่งชนิดที่คนไทยเริ่มหันมาปลูกกันเยอะในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา รวมถึงได้รับกระแสความนิยมในหมู่คนวงการบันเทิง พร้อมกับความสวยแปลกตาที่เป็นเอกลักษณ์ของ มอนอร่า ที่สามารถปลูกประดับบ้านได้ แถมยังช่วยดูดซับสารพิษอันตรายในอากาศ ทั้งฟอร์มาลดีไฮด์ เลยส่งผลให้ มอนสเตอร่า กลายเป็นต้นไม้ยอดนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันนั่นเอง
3.กวักมรกตด่าง
ไม้ฟอกอากาศใบสีเขียวด่างมันเงางาม
กวักมรกตด่าง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Zamioculcas zamiifolia มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน สามารถแตกกอและขยายเป็นต้นใหม่ได้ง่าย ทั้งใบและก้านใบมีลักษณะอวบน้ำ ใบจะออกเป็นสีเขียวด่างมันเงาสวยงาม มีก้านใบสั้น และโคนใบมน ต้นนี้จะออกดอกเป็นช่อมีลักษณะเป็นช่อเชิงลดมีกาบ คล้ายดอกหน้าวัว มีสีเหลืองนวลแกมเขียวอ่อ
นอกจากนี้ต้นกวักมรกตด่าง ยังเป็นชื่อที่เป็นสิริมงคล หากใครได้ปลูกเชื่อว่าจะทำให้เจ้าของโชคดีมีโชคลาภและร่ำรวย โดยเฉพาะถ้าหากปลูกแล้วมีดอกให้เห็นด้วย ก็จะยิ่งรวยมากขึ้นไปอีก ซึ่งจัดอยู่ในไม้เสี่ยงทายเลยก็ว่าได้ หากใครเป็นนักสะสมหรือเป็นคนรักต้นไม้คงต้องจัดหามาไว้ซักหนึ่งต้นแล้วล่ะ